บริการการแพทย์แผนไทย

เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากงบบริการทางแพทย์เหมาจ่ายรายหัว ประเภทบริการผู้ป่วยนอกทั่วไป สำหรับบริการการแพทย์แผนไทย ในผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมบริการบำบัด รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายด้วยบริการการแพทย์แผนไทย โดยปีงบประมาณ 2564 รวมบริการฝังเข็มหรือบริการฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นไฟฟ้าในผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) รายใหม่ที่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในระยะกลาง

วัตถุประสงค์/ขอบเขตบริการ/เป้าหมาย

  1. เพิ่มการเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทยที่มีคุณภาพ ของประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  2. เพิ่มการเข้าถึงยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
  3. เพิ่มการเข้าถึงบริการฝังเข็มหรือบริการฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นไฟฟ้าในผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) รายใหม่

วงเงินงบที่ได้รับ

ค่าใช้จ่ายบริการการแพทย์แผนไทย ได้รับจำนวน 17.90 บาทต่อผู้มีสิทธิ สำหรับผู้มีสิทธิ 47.6440 ล้านคน

กรอบแนวทางการบริหารจัดการค่าบริการ

การบริหารจัดการ

บริหารการจ่ายระดับประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์การจ่าย ดังนี้

  1. จำนวนไม่น้อยกว่า 16.30 บาทต่อผู้มีสิทธิ จ่ายให้หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านเกณฑ์การขึ้นทะเบียนการจัดบริการการแพทย์แผนไทย เพื่อบริการบำบัด รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพตามรายการบริการที่กำหนด ได้แก่ บริการนวด บริการประคบ บริการนวดและประคบ บริการอบสมุนไพร การฟื้นฟูสมรรถภาพมารดาหลังคลอดตามแนวเวชปฏิบัติด้านการแพทย์แผนไทย และการใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีหลักเกณฑ์การจ่าย ดังนี้
    • 1.1 จ่ายให้หน่วยบริการร่วมให้บริการด้านแพทย์แผนไทย ตามจำนวนผลงานบริการการแพทย์แผนไทยตามรายการบริการ (Fee schedule) ให้กับ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน
    • 1.2 จ่ายให้หน่วยบริการประจำ ตามผลงานบริการการแพทย์แผนไทยของรายการบริการ (Fee schedule) ด้วยระบบ Point system with ceiling ในอัตรา Point ละ ไม่เกิน 1 บาท ภายใต้วงเงินที่ได้รับจัดสรร (Global Budget) (สำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิหรือหน่วยบริการในเครือข่ายหน่วยบริการประจำ จะจ่ายผ่านหน่วยบริการประจำ) ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่ายเป็นไปตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564
  2. จำนวนไม่เกิน 1.60 บาทต่อผู้มีสิทธิ จ่ายให้แก่หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีศักยภาพการให้บริการฝังเข็มหรือบริการฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นไฟฟ้า สำหรับผู้ป่วยสิทธหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่ ที่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในระยะกลาง เมื่อผ่านพ้นภาวะวิกฤติและมีอาการคงที่ โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
    • 2.1 เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีบริการฝังเข็ม โดยบุคลากรที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
      • 2.1.1) แพทย์ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเวชกรรมที่ผ่านการอบรมหลักสูตรฝังเข็ม 3 เดือนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง หรือ
      • 2.1.2) แพทย์แผนจีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนจีน
    • 2.2 แนวทางการจัดบริการ โดยให้บริการฝังเข็มหรือฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นไฟฟ้าในผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่ที่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในระยะกลาง เมื่อผ่านพ้นภาวะวิกฤติและมีอาการคงที่ ทั้งแบบผู้ป่วยใน (IP) ผู้ป่วยนอก (OP) และในชุมชน รวมระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
    • 2.3 หน่วยบริการต้องจัดระบบบริการฝังเข็ม โดยบูรณาการร่วมกับระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในระยะกลาง (Intermediate care: IMC) โดยอาจมีรูปแบบบริการ เช่น
      • รูปแบบที่ 1 เป็นบริการฝังเข็มร่วมกับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ (รพท., รพศ., รพ.มหาวิทยาลัย, รพ.สังกัดกรมแพทย์ทหารบก และอื่นๆ) เมื่อผู้ป่วยผ่านพ้นภาวะวิกฤติและมีอาการคงที่
      • รูปแบบที่ 2 เป็นบริการฝังเข็มร่วมกับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่
    • 2.4 แนวทางการให้บริการฝังเข็มในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะฟื้นฟู ควรให้บริการอย่างน้อย1 – 2 ครั้ง/สัปดาห์ ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง และประเมินซ้ำเมื่อครบ 10 ครั้ง เพื่อพิจารณารักษาต่ออีก 10 ครั้ง รวมเป็น 20 ครั้ง โดยต้องมีการประเมินและบันทึกค่า Barthel index (BI) ร่วมด้วยทุกครั้งที่ให้บริการ ทั้งนี้ อาจฝังเข็มห่างขึ้นตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยให้เป็นไปตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกำหนด
    • 2.5 หลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการฝังเข็ม แบ่งเป็น ดังนี้
      • 2.5.1 จ่ายตามรายการบริการตามมาตรฐานชุดบริการฝังเข็ม หรือบริการฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นไฟฟ้า
      • 2.5.2 จ่ายแบบเหมาจ่ายเพิ่มเติมตามมาตรฐานบริการ ที่ สปสช.กำหนด ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่ายเป็นไปตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564

ให้ สปสช.สามารถปรับเกลี่ยระหว่างประเภทบริการย่อยข้อ 1 ถึงข้อ 2 ได้ตามผลงานบริการที่เกิดขึ้นจริง

การกำกับ ติดตาม ประเมินผล

  • การเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐาน การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการจัดบริการการแพทย์แผนไทยและการจัดส่งข้อมูลบริการที่ครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลา ร่วมกับกลไกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  • การเข้าถึงบริการฝังเข็มหรือบริการฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นไฟฟ้าในผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองระยะฟื้นฟูรายใหม่ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมถึงการจัดส่งข้อมูลบริการที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ตัวชี้วัดการดำเนินงาน

  1. ร้อยละผู้ป่วยนอกที่ได้รับบริการการแพทย์แผนไทย
  2. ร้อยละของผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองระยะฟื้นฟูรายใหม่ที่ได้รับบริการฝังเข็มหรือบริการฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นไฟฟ้า
  3. ร้อยละของผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองระยะฟื้นฟูรายใหม่ที่ได้รับบริการฝังเข็มหรือบริการฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นไฟฟ้าแล้วมีคะแนนการประเมิน Barthel index ดีขึ้นอย่างน้อยหนึ่งระดับ
Happy
Happy
67 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
33 %
Surprise
Surprise
0 %

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Previous post การบริหารค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว ปี2564 (บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์)
Next post การบริหารค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว ปี2564 (งบลงทุน)