คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.)

ความเป็นมา

จากการที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายที่จะพัฒนาสาธารณสุขส่วนภูมิภาคในระดับอำเภอให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้สั่งให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) วัตถุประสงค์ให้องค์กรดังกล่าวรับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับ การประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ ประสานการปฏิบัติงาน รวมทั้งช่วยติดตามและประเมินผลงานสาธารณสุขระดับอำเภอ แต่เนื่องจากมีการ”ปรับเปลี่ยนระบบการดูแลสุขภาพ ก่อให้เกิดการจัดบริการสุขภาพ ในรูปแบบ ศูนย์สุขภาพชุมชน รวมทั้งการจัดงบประมาณต่อหัวประชากรลงสู่คู่สัญญาการให้บริการระดับปฐมภูมิ (Contracting Unit for Primary Care: CUP) ที่ผ่านมาการบริหารจัดการในรูปแบบเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิ ยังไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งการขาดความชัดเจนในรูปแบบการดำเนินการในเครือข่าย ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาสาธารณสุข ตามแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพอย่างมาก

ดังนั้น จึงได้หาแนวทางแก้ปัญหาโดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยเชิญผู้แทนจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ เข้าร่วมประชุมหารูปแบบที่เหมาะสม มติที่ประชุมได้ตกลงให้มี คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ( คปสอ.) เช่นเดิม แต่ปรับบทบาทภารกิจของคณะกรรมการฯ ให้มีแนวทางดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการเครือข่ายบริการทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ รวมทั้งการประสานงานที่ดีระหว่าง โรงพยาบาล, สถานีอนามัย, สาธารณสุขอำเภอและหน่วยที่จัดบริการด้านสุขภาพระดับต่างๆ รูปแบบการบริหารและพัฒนาเครือข่ายบริการทั้ง 3 ระดับนี้ จะนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้เป็นจริงยิ่งขึ้น

โครงสร้างองค์กร

ชื่อองค์กร คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.)
ชื่อภาษาอังกฤษ District Health Coordinating Committee คำย่อ DHCC

องค์ประกอบหลักของคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ จำนวน 10-20 คน ประกอบด้วย

  1. ผู้อำนวยการโรงพยาบาล
  2. สาธารณสุขอำเภอ
  3. ผู้แทนส่วนโรงพยาบาล
    • กลุ่มงานเวชกรรมสังคม/กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัว
    • กลุ่มงานการพยาบาล
    • กลุ่มงานทันตกรรม
    • กลุ่มงานเภสัชกรรม
    • กลุ่มงานพยาธิวิทยาคลินิก/กลุ่มงานชันสูตร
    • อื่นๆตามเหมาะสม
  4. ผู้แทนหัวหน้าสถานีอนามัย/พยาบาลวิชาชีพในเครือข่าย
  5. ผู้แทนส่วนสาธารณสุขอำเภอหรือนักวิชาการสาธารณสุขอำเภอ
  6. ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
    • เทศบาล
    • โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม
    • โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
    • โรงพยาบาลในสังกัดรัฐวิสาหกิจ
    • โรงพยาบาลเอกชน
    • โรงพยาบาลองค์กรอิสระในกำกับของรัฐ
  7. อื่นๆตามเหมาะสม

ประธาน กำหนดให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้พิจารณา โดยความเห็นชอบของผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต และเสนอให้ผู้ว่าราชการแต่งตั้ง
เลขานุการ เลือกจากผู้เป็นกรรมการในที่ประชุม โดยความเห็นชอบของประธาน
การประชุม กำหนดให้ต้องมีการประชุมทุกเดือน
คณะกรรมการ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้ง คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ ( คปสอ.) ซึ่งคัดเลือกจากองค์ประกอบในส่วนโรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอฝ่ายละเท่าๆ กัน และคัดเลือกผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยละ 1 คน และให้คณะกรรมการฯ มีวาระ 1 ปี สำหรับประธานคณะกรรมการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้พิจารณา และเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง พร้อมทั้งส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ ( คปสอ.) ให้กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

กรอบอำนาจหน้าที่ และบทบาทของคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) มีดังนี้

  1. กำหนดแนวทาง เป้าหมายและการดำเนินงานด้านสุขภาพในพื้นที่รับผิดชอบ โดยต้องเป็นไปตามสภาพของพื้นที่ กรอบ แผน นโยบายด้านสาธารณสุข ของอำเภอ จังหวัด เขต และประเทศ
  2. จัดทำแผนปฏิบัติการในการพัฒนาสุขภาพในพื้นที่เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ ตามแนวทางการบริหารงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์
  3. กำหนดหลักเกณฑ์และจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพ ให้แก่สถานบริการสาธารณสุขตามกรอบนโยบายที่กำหนด
  4. กำหนดกระบวนการทำงานของหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ให้มีรูปแบบชัดเจน
  5. สนับสนุนการพัฒนาหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ(ศูนย์สุขภาพชุมชน) ทุติยภูมิ ตติยภูมิให้ได้มาตรฐาน เพื่อเตรียมการรับรองการประเมินมาตรฐานของหน่วยบริการ
  6. กำกับ ดูแล ติดตาม ประเมินผล ปรับปรุงแก้ไข การดำเนินงานด้านสุขภาพในพื้นที่
  7. กำหนด ข้อตกลงร่วมในเครื่อข่าย ควบคุม ดูแล รวมถึงการให้อำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลให้การปฏิบัติงานทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ดำเนินการหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน
  8. กำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันของหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชน
  9. ประสานงานระหว่างเครือข่ายกรณีมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รับผิดชอบในสัญญา
  10. กำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากร ในเครือข่ายทุกระดับ ให้มีความรู้ความสามารถทักษะในการบริหาร บริการ
  11. ให้มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดูแลระบบบริการระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ตามความเหมาะสม และแต่งตั้งคณะทำงานอื่นๆได้ตามความจำเป็น เช่น
    • คณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์
    • คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูล
    • คณะทำงานพัฒนาระบบการเงินและงบประมาณ ฯลฯ

เป้าหมายสูงสุดในการดูแลสุขภาพ ของ คณะกรรมการประสานการพัฒนาสาธารณสุขระดับอำเภอ(คปสอ.) คือ “ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่ดี” โดยเชื่อมโยงกับโครงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเป็นผู้บริหารจัดการโครงการประกันสุขภาพในระดับเครือข่ายปฐมภูมิ และเชื่อมต่อกับระดับทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการให้บริการด้านสุขภาพ และสามารถบริหารจัดการในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นการ วางแผนคน แผนเงิน และแผนงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ทำให้ประสิทธิภาพการบริหารและการบริการดีขึ้น และเกิดประโยชน์กับราชการอย่างแท้จริงต่อไป

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Previous post นโยบายการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล
Next post เครื่องมือทบทวนและพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ