นายแพทย์วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ
นายแพทย์วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ

ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ เป็นช่วงเวลาที่ คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) และทีมของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)สนธิกำลังเข้าตรวจระบบการบริหารจัดการกองทุนแสนกว่าล้าน ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยเข้าตรวจทั้งที่ระดับส่วนกลางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับเขตพื้นที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และระดับหน่วยบริการ คือโรงพยาบาลทุกระดับ แม้ทีมตรวจสอบจะชี้แจงว่าการตรวจสอบนี้เป็นการตรวจสอบเชิงระบบ ไม่เน้นที่ความผิดทางวินัยอาญาหรือแพ่งถ้ามีเรื่องใดที่ระเบียบไม่ชัดเจนคลุมเครือ ตีความได้หลายแง่หรือระเบียบปฏิบัติรองรับยังไม่มีก็จะมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขหรือพัฒนาขึ้นมาใหม่รองรับ แต่ผู้ถูกตรวจทั้งหลายก็ยังคงออกอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว เพราะไม่รู้ว่าตนเองและหน่วยงานจะถูกหางเลขในเรื่องใดบ้างในเที่ยวนี้

 

หนึ่งในประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะต่างฝ่ายต่างยึดถือระเบียบและอำนาจในการสั่งการคนละฉบับกันคือเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพที่จ่ายลงไปที่หน่วยบริการเข้าสู่บัญชีเงินบำรุงนั้น เงินหมวดไหนเป็นเงินรับฝาก เงินหมวดไหนเป็นเงินจ่ายขาด ยกตัวอย่างได้แก่ 

  • เงินที่จ่ายตามผลงาน เช่นผู้ป่วยในตาม DRG นั้น จ่ายให้เมื่อมีผลงานการให้บริการไปแล้วน่าจะเป็นเงินจ่ายขาดเมื่อเข้าเงินบำรุงไปแล้วจะเอาไปใช้จ่ายอะไรก็ได้ตามระเบียบเงินบำรุง (แม้จะมีprepaid ให้ไปก่อนแต่ก็ถือว่าเป็นหมวดเงินที่จ่ายขาดแล้ว) เงินหมวดนี้ถือว่าจ่ายขาดแบบไม่มีเงื่อนไข
  • เงินค่าเสื่อม เป็นเงินที่จ่ายไปตามหัวประชากรและผลงาน แต่มีข้อแม้ว่าต้องใช้จ่ายเป็นไปตามแนวทางที่คู่มือกำหนด จะเอาไปผันซื้อยา ไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟไม่ได้อย่างนี้ก็ถือว่าเป็น การจ่ายขาดแบบมีเงื่อนไข
  •  เงิน PP ที่เคยเอาไปกองไว้ที่ สสอ.บางส่วน เงินกันไว้เป็น C.F. หรือ อื่นๆ ที่กันไว้ที่ สสอ. ตามคู่มือ เงินหมวดนี้ถือเป็นเงินรับฝาก ต้องมีการโอนไปที่หน่วยบริการ ตามแผนงานโครงการที่กำหนด จังหวัดจะเอาไปใช้จ่ายเองแบบเงินบำรุงไม่ได้

ประเด็นที่ สตง. มีการทักท้วงหลายเรื่องที่ผ่านมาในส่วนการใช้จ่ายเงินบำรุงของหน่วยบริการ คือ มีการใช้จ่ายเงินหลายเรื่องไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกองทุนย่อยนั้นๆและโรงพยาบาลบางแห่งถือว่าเมื่อเงินนี้เป็นเงินบำรุงแล้ว จะใช้จ่ายอย่างไรก็ได้งวดนี้ทั้ง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข คงต้องมาจับเข่าคุยกันให้ชัดเจนมากขึ้น

 

จากบทความในจุลสาร อปสข.ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ,เมษายน 2558 โดยนายแพทย์วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ