ดาวน์โหลดไฟล์นี้นับตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นในปี 2544 ได้มีการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการตั้งแต่ระดับบริการปฐมภูมิจนถึงระดับตติยภูมิเฉพาะทาง โดยเฉพาะการบริการตติยภูมิเฉพาะทางด้านหัวใจและหลอดเลือด ได้มีการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการให้เป็นศูนย์รับการส่งต่อเพื่อการดูแลผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจกระจายในภูมิภาคมากขึ้น ทำให้การเข้าถึงบริการด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นไปอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน จนในปัจจุบันพบว่าระยะเวลารอคอยเพื่อการผ่าตัดลดลง แต่จากข้อมูลทางระบาดวิทยาก็ยังพบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน รวมทั้งอัตราป่วยตายจากโรคดังกล่าวยังคงเดิม และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ซึ่งสาเหตุใหญ่ของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมาจากพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของประชากรปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ลักษณะโครงสร้างอายุประชากรจะมีกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น รวมทั้งอุบัติการณ์ทางโรคเมแทบอลิสม โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นสาเหตุและปัจจัยโรคร่วมที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจสูงขึ้นด้วย ซึ่งยังคงเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และภาวะสังคมในหลายทศวรรษหน้า ดังนั้นการส่งเสริมป้องกันโรคและภาวะแทรกซ้อนจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระดับชุมชนและการบริการปฐมภูมิ ตามแนวนโยบายของ สปสช. ที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการบริการปฐมภูมิ นับตั้งแต่เริ่มมีระบบหลักประกันสุขภาพ โดยมุ่งเน้นการเข้าถึงบริการถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพบริการ และการกระจายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงมีความจำเป็นต้องทำให้ระบบบริการในทุกระดับมีการบริการอย่างบูรณาการ มองปัญหาแบบองค์รวม มีความเชื่อมโยงของระบบสาธารณสุขที่ดี คำนึงถึงคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุข ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีคู่มือแนวทางเวชปฏิบัติโรคหัวใจขาดเลือดที่มีความเหมาะสมตามสภาพปัญหาและบริบททางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศไทย โดยคำนึงถึงคุณภาพมาตรฐานและประสิทธิภาพ การจัดการที่สอดคล้องกับทรัพยากรด้านสาธารณสุขของประเทศ เพื่อให้บุคลากรด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะระดับปฐมภูมิ และทุติยภูมิ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางอ้างอิงและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยมุ่งหวังว่าจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการบริการสาธารณสุข สามารถลดอุบัติการณ์, อัตราป่วย, อัตราตาย หรือภาวะแทรกซ้อนของหัวใจและหลอดเลือดลดลง โดยอาศัยการบริหารจัดการทรัพยากรและต้นทุนที่เหมาะสม (Optimized Utilization) ซึ่งทำให้ประชาชนในระบบหลักประกันทุกภูมิภาค สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐานและเท่าเทียมกัน

การจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติฯ สำเร็จลุล่วงได้ด้วยความร่วมมือจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมวิชาชีพต่างๆ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แนวทางเวชปฏิบัตินี้จะเกิดประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขใช้เพื่อศึกษาอ้างอิงในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีคุณภาพ